คำนาม
คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ อาการ สภาพ และลักษณะสถานที่ ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งรูปธรรมและนามธรรม คำนามแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
1. สามานยนาม คือ คำนามสามัญที่ใช้เรียกชื่อสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่เจาะจง หรือชี้เฉพาะ เช่น คน แม่ ไก่ ถนน บ้าน เป็นต้น สามานยนามบางคำมีคำย่อยบอกชนิดย่อย ๆ ของนามนั้น เช่น คนไทย แม่บ้าน ไก่แจ้ โรงเรียนมัธยมศึกษา เป็นต้น
ตัวอย่าง - แมวชอบกินปลา
- หนังสืออยู่บนตู้
- วิชาเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา
2. วิสามานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของ หรือคำเรียกบุคคล สถานที่ เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนไหน สิ่งใด ที่ไหน เช่น โรงเรียนพนัสพิทยาคาร นวนิยาย เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ อำเภอพนัสนิคม นางสาวราตรี เป็นต้น
ตัวอย่าง - ปฐมาภรณ์และวทันยาเป็นเพื่อนสนิทกัน
- พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก
- วรวรรณไปสมัครงานที่กระทรวงสาธารณสุข
3. ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบคำนามอื่น เพื่อบอกรูปร่างสัณฐาน ปริมาณ การจำแนก เวลา วิธีทำ และลักษณนามอื่น ๆ หรือคำซ้ำคำนามที่กล่าวก่อน จำแนกได้ดังนี้
- ลักษณนามบอกสัณฐาน ได้แก่คำว่า วง หลัง แผ่น ผืน บาน ลูก ใบ แท่ง ก้อน คัน ต้น ลำ ซี่ เกล็ด เครื่อง ดวง กระบอก เส้น สาย ปาก ปื้น แพ ราง เม็ด ตับตัวอย่าง - กุสุมาซื้อข้าวเม่าทอดจากตลาด 3 แพ
- ลักษณนามบอกการจำแนก ได้แก่คำว่า กอง พวก เหล่า หมวด หมู่ ฝูง โขลง คณะ นิกาย ชุด สำรับ ข้อ โรง ครอก ขั้น ฉบับ ระดับ จำพวก อย่าง ประการ ประเภท ชนิด แบบ ลักษณะ รูปแบบ ประเด็น ฯลฯตัวอย่าง - พัชราภรณ์ไม่ไปโรงเรียนวันนี้เพราะมีเหตุผลหลายประการ
- ลักษณนามบอกปริมาณ ได้แก่คำว่า คู่ โหล กุลี บาท ชั่ง กิโลกรัม ชะลอม หีบ ขวด หยด กล่อง ช้อน ถ้วย ลิตร ตุ่ม ไห โยชน์ กิโลเมตร ฯลฯตัวอย่าง - วาริศาซื้อรองเท้าใหม่ 2 คู่
- ลักษณนามบอกเวลา ได้แก่คำว่า นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ยก รอบ ครั้ง คราว สมัย ยุค หน ช่วง กะ ที ศตวรรษ ฯลฯตัวอย่าง - ครูเตือนนวลลักษณ์หลายหนเรื่องลอกการบ้านเพื่อน
- ลักษณนามบอกวิธีทำ ได้แก่คำว่า ผูก จับ จีบ ห่อ หยิบ กำ ม้วน พับ มัด มวน ฯลฯตัวอย่าง - ธารวีกินขนมจีนแค่ 3 จับก็อิ่ม
- ลักษณนามอื่น ๆ ได้แก่คำว่า พระองค์ องค์ รูป ตน คน ตัว ใบ เรื่อง สิ่ง อัน เลา เชือก คัน เรือน เล่ม ชิ้น ด้าม ฯลฯ
ตัวอย่าง - อนุกูลมีขลุ่ย 2 เลา
4. สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ของสามานยนาม และวิสามานยนามที่รวมกันมาก ๆ ได้แก่คำว่า คณะ กอง หมู่ ฝูง โขลง พวก กลุ่ม ฯลฯ ตัวอย่าง - โขลงช้างทำลายไร่ข้าวโพดเสียหายหมด
- ฝูงนกพากันออกหากิน
- กองทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา
5. อาการนาม คือ คำเรียกนามธรรม คือใช้เรียกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาดแต่สามารถเข้าใจได้ ส่วนใหญ่จะมีคำว่า “การ" และ “ความ" นำหน้า
คำว่า “การ"
จะนำหน้าคำกริยา เช่น การเรียน การเล่น การวิ่ง การเดิน การกิน การอ่าน เป็นต้น
คำว่า “ความ"
1. ใช้นำหน้าคำกริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ หรือมีความหมายในทางเกิด มี เป็น เจริญ เสื่อม เช่น ความคิด ความฝัน ความรัก ความตาย ความทุกข์ ความเจริญ เป็นต้น
2. ใช้นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น ความดี ความเร็ว ความสูง ความถี่ ความหรูหรา เป็นต้นข้อควรสังเกต คำว่า “การ" และ “ความ" ถ้าไม่ได้นำหน้าคำกริยาและคำวิเศษณ์ จะเป็นคำ สามานยนาม เช่น การบ้าน การเรือน การไฟฟ้า การประปา ความแพ่ง ความอาญา เป็นต้น
หมายเหตุ
1. ลักษณนามบางคำ ใช้ซ้ำกับคำนามที่กล่าวมาแล้ว เช่น โรงเรียนหลายโรงเรียน เป็นต้น
- สมุหนามบางคำใช้ซ้ำกับลักษณนาม มีข้อสังเกตคือ สมุหนามจะอยู่หน้าคำนาม เช่น ฝูงนก โชลงช้าง เป็นต้น ส่วนลักษณนามจะอยู่หลังหรือหน้าจำนวนนับ เช่น นก 1 ฝูง ช้างโขลงหนึ่ง เป็นต้น
หน้าที่ของคำนาม
- เป็นประธานของประโยค เช่น อุทัยทำการบ้าน ครูสอนนักเรียน เป็นต้น
- เป็นกรรมของประโยค เช่น แมวถูกหมากัด รถชนสุนัข เป็นต้น
- เป็นกรรมตรงและกรรมรอง เช่น- ธีรภัทร์ซื้อของขวัญให้เบญจกานต์ (ของขวัญเป็นกรรมตรง เบญจกานต์เป็นกรรมรอง)
- ทำหน้าที่ขยายคำนามอื่น เช่น พลอยพี่สาวของเพชรเป็นหมอ เป็นต้น
- ขยายคำกริยาเพื่อบอกสถานที่หรือทิศทาง เช่น สรินธรไปโรงเรียน เป็นต้น
- คำนามที่บอกเวลา ใช้ขยายกริยาหรือคำนามอื่น ๆ เช่น อากาศหนาวมากเวลากลางคืน เป็นต้น
- ใช้สำหรับเรียกขาน เช่น คุณแม่คะหนูไม่สบายค่ะ เป็นต้น
- คำนามที่เป็นส่วนเติมเต็มให้กริยา เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นกรรมของกริยานั้น ๆ เช่น แมวคล้ายเสือ แววเหมือนหม่ำมาก เท่งเป็นตลก เป็นต้น
- http://www.school.net.th/library/create-web/10000/language/10000-7948.html
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น